วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2552

งบประมาณ

1. การสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ

ในการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนด้านที่อยู่อาศัยตามนโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ ตามแนวทางโครงการ “บ้านมั่นคง” ในช่วง 4 ปีนับจากนี้ (พ.ศ.2548-2551) ซึ่งมีเป้าหมายให้คนจนในเมืองในชุมชนแออัด/ชุมชนบุกรุก และชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วไป รวมทั้งชุมชนที่ประสบปัญหาเร่งด่วนได้รับการแก้ปัญหารวม 1,425,000 คน 285,000 ครัวเรือนใน 200 เมืองทั่วประเทศนั้น จำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐอย่างต่อเนื่องรวมทั้งสิ้น 19,367 ล้านบาท โดยเป็นการสนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

1) การอุดหนุนการพัฒนาสาธารณูปโภค สาธารณูปการที่จำเป็นรวมทั้งการพัฒนาสภาพแวดล้อมของชุมชนรวม 12,825 ล้านบาท (ฐานคิดงบประมาณอุดหนุนเฉลี่ยในปี 2548 จำนวน 45,000 บาทต่อหน่วย (ครัวเรือน) และเพิ่มร้อยละ 5 หรือตามอัตราเฉลี่ยการเพิ่มขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้าง ของกรมพาณิชย์ในปีต่อ ๆ ไป) โดยคำนวนจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมาและยึดหลักความประหยัด ทั้งนี้ในการดำเนินการจริงจะขึ้นกับรูปแบบหรือลักษณะโครงการที่อาจมีความแตกต่างหลากหลายโดยมีกรอบการอุดหนุนเป็น 2 ประเภทโครงการใหญ่ ๆ คือ

1.1) การปรับปรุงชุมชนในที่เดิม ค่าเฉลี่ยในการอุดหนุนในปี 2548 เป็นจำนวน 25,000 บาทต่อหน่วย (ครัวเรือน)

1.2) การจัดปรับผัง/รื้อย้ายในชุมชน รวมทั้งการรื้อย้ายเพื่อจัดสร้างชุมชนใหม่ หรือในบางกรณีอาจเป็นการหาซื้อที่อยู่อาศัยในรูปแบบอื่น ๆ การอุดหนุนจะไม่เกิน 65,000 บาทต่อหน่วย(ครัวเรือน) (สัดส่วนในการดำเนินโครงการคาดว่าประมาณ ข้อ 1.1: ข้อ 1.2 จะเป็นประมาณ 56 : 44 )

2) การอุดหนุนค่าบริหารจัดการในการออกแบบ/พัฒนาระบบสาธารณูปโภคฯ ตามข้อ 1) ร้อยละ 5 ของงบอุดหนุนการพัฒนาฯ คิดเป็นเงินอุดหนุนรวม 642 ล้านบาท โดยจะกระจายเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการของกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรต่าง ๆ ในท้องถิ่น ซึ่งกลไกการทำงานร่วมกันในพื้นที่จะกำหนดค่าใช้จ่ายและวิธีการใช้ร่วมกัน

3) การอุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยของครัวเรือน จำนวนรวม 5,700 ล้านบาท เป็นการอุดหนุนเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยถึงน้อยมากสามารถรับภาระในการจ่ายค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยของตนเองได้ โดยรัฐให้การอุดหนุนในการสร้างบ้านครัวเรือนละ 20,000 บาท จากจำนวนหน่วยที่จะดำเนินการตามแผน รวมทั้งสิ้น 285,000 หน่วย คิดเป็นเงินอุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยของครัวเรือน รวม 5,700 ล้านบาท

สำหรับวงเงินสินเชื่อ คาดว่าจะมีความต้องการรวม 34,200 ล้านบาท เป็นสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยประมาณ 22,800 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง/พัฒนา/ปรับปรุงที่อยู่อาศัย คิดจากค่าเฉลี่ยประมาณ 100,000 บาทต่อหน่วย โดยคิดสินเชื่อร้อยละ 80 ของจำนวนหน่วยทั้งหมด) ชุมชนสมทบร้อยละ 10 และสินเชื่อกรณีจัดซื้อที่ดิน ซึ่งคาดว่ามีความต้องการประมาณ 11,400 ล้านบาท (ประมาณ 100,000 บาทต่อหน่วย) โดยคิดประมาณร้อยละ 40 ของจำนวนรวมทั้งหมด

4) การสนับสนุนการจัดกระบวนการพัฒนาใน 200 เมือง ในการดำเนินการโครงการฯ รวม 4 ปี ตามแนวทางใหม่นี้จะต้องมีการจัดกระบวนการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ ซึ่งแต่ละปีจะมีจำนวน 100 – 200 เมือง ซึ่งจำเป็นจะต้องมีงบประมาณสนับสนุนปีละ 30 – 70 ล้านบาท เป็นเงินอุดหนุนรวม 4 ปี จำนวนรวม 200 ล้านบาท เพื่อให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกันในแต่ละเมือง เป็นงบประมาณในการเสริมสร้างความรู้ การสำรวจและจัดทำข้อมูล ตลอดจนการจัดทำแผนเพื่อให้แก้ปัญหาอย่างเป็นระบบตลอดจนการจัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฝึกอบรม สรุปข้อมูลองค์ความรู้ การวิจัยและการสร้างความสามารถในการบริหารจัดการของชุมชนและท้องถิ่นการเชื่อมโยงให้เกิดกระบวนการร่วมกันไปกับการเชื่อมโยงการพัฒนาด้านอื่น ๆ

2. การสมทบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

มีแนวทางสำคัญที่จะโน้มนำการใช้งบประมาณพัฒนาของท้องถิ่นมาสู่แนวทางใหม่ที่ให้องค์กรชุมชนและท้องถิ่นเป็นแกนหลักร่วมกันในการพัฒนาพื้นที่ของตนเอง โดยการดำเนินโครงการจะขอให้องค์กรท้องถิ่นร่วมสมทบสำหรับการพัฒนาชุมชน การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และการร่วมจัดกระบวนการและการบริหารจัดการ เพื่อลดภาระการสนับสนุนจากรัฐในระยะยาว และทำให้สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนได้มากกว่าเป้าหมายที่โครงการบ้านมั่นคงวางไว้ รวมถึงการถ่ายโอนความรู้ ความสามารถให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยคนจนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เป็นความพยายามเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนการดำเนินโครงการจากหน่วยกลางเป็นชุมชนและท้องถิ่นให้มากที่สุด

นอกจากการสนับสนุนด้านงบประมาณแล้ว ในการพัฒนาจะเชื่อมโยงให้องค์กรท้องถิ่นสนับสนุนกระบวนการพัฒนา เพื่อให้โครงการบ้านมั่นคงเป็นโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในเมืองที่องค์กรท้องถิ่นและชุมชนเมืองร่วมกันเป็นเจ้าของ โดยมีกระบวนการบริหารจัดการ ดำเนินการ และติดตามพัฒนา และมีกลไกคณะทำงานพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองที่ประกอบด้วยองค์กรชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย เช่น เทศบาล ผังเมืองจังหวัด ที่ดินจังหวัด ประชาคมจังหวัด เพื่อร่วมกันวางแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกันทั้งเมือง โดยให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนา มีส่วนร่วมในการกำหนดการใช้ที่ดิน ผังเมือง และทิศทางกาพัฒนาและบรรจุแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยและแก้ปัญหาชุมชนแออัดเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและแผนจังหวัด

3. งบประมาณสมทบจากชุมชน

งบสมทบจากชุมชน นอกเหนือจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ชุมชนรับภาระเองแล้วจะประกอบด้วย

1) งบสมทบในการพัฒนาปรับปรุงชุมชนและสาธารณูปโภค ซึ่งการสมทบอาจจะเป็นในรูปตัวเงินแรงงาน หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นโดยชุมชนร่วมกันสมทบ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมจัดการ

2) งบสมทบสินเชื่อที่อยู่อาศัยประมาณร้อยละ 10 ของงบสินเชื่อโดยรวมคิดเป็นเงินสมทบประมาณ 2,280 ล้านบาท ซึ่งประมาณไว้ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากชุมชนจะต้องระดมเงินออมของตนมาใช้จ่ายในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย รวมทั้งยังต้องรับภาระในส่วนของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและค่าที่ดินอีกด้วย